ENGLISH VERSION


ชีวประวัติ
ดร.มนัส เชิดเกียรติศักดิ์

ดร.มนัส เชิดเกียรติศักดิ์ ( แซ่เตียว เป็น จีนแต้จิ๋ว ) หรือแซ่จาง ( จีนกลาง ) มีชื่อจีนว่า 张汉荣 ( Zhang Han Rong ) เป็นบุตรคนที่ 3 ของคุณพ่อฮง คุณแม่ย้ง เกิดที่ย่านถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2474 มีพี่น้องรวม 6 คน คือ

1. นายนิรัตน์ นิวัฒน์วาสน์
2. นายสมศักดิ์ เชิดเกียรติศักดิ์
3. นายมนัส เชิดเกียรติศักดิ์
4 .นางไพลิน สุจิรัตนวิมล
5. นางศรีนุช พันธุ์วิวัฒนธนา
6. นางสาวเอมรัศมี เชิดเกียรติศักดิ์


สมรสกับคุณแม่จินตนา เชิดเกียรติศักดิ์ มีบุตรธิดารวม 6 คน คือ

1. นางศิริรัตน์ โยชิโน
2. นางณัฐนันท์ ภู่ไพบูลย์ ( ชื่อเดิม นางอารีย์ ภู่ไพบูลย์ )
3. นางวิมล วีระปรศุ
4. นายอรรณพ เชิดเกียรติศักดิ์
5. นายพิศิษ เชิดเกียรติศักดิ์
6. นายอธึก เชิดเกียรติศักดิ์



ด้วยความที่เป็นผู้ใหญ่ใจดี มีเมตตาต่อผู้อื่นอยู่เสมอ โดยส่วนใหญ่ทุกคนที่รู้จัก และอ่อนอาวุโสกว่าจะเรียกคุณมนัสว่า “อาปา” ซึ่งแปลว่าคุณพ่อตามที่ลูกๆเรียก อาปาจึงเป็นคนที่มีลูกมาก เพราะนอกจากลูกในครอบครัวแล้ว ยังมีลูกอยู่ที่บริษัท โรงงาน และที่อื่น ๆ ที่ต่างให้ความเคารพรักท่าน


อาปามีความสนใจในการค้าขายมาตั้งแต่เด็กมักจะหาสิ่งของไปขายที่โรงเรียนอยู่เสมอ ในระหว่างเรียนชั้นประถมต้นที่โรงเรียนพิทยะศึกษา ในย่านสะพานมอญ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาปาได้ย้ายไปพักกับบ้านญาติที่บางบัวทองเป็นการชั่วคราวพร้อมกับน้องสาว 3 คน อาปาจึงมีความรู้สึกผูกพันที่ดีมากกับบางบัวทอง


เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา 4 ( อาปาเล่าแบบขำ ๆ ว่า แท้ที่จริงแล้ว อาปาจบแค่ ป.3 เพราะอยู่ในช่วงภาวะสงคราม กระทรวงศึกษาธิการได้ลงหมายเหตุไว้ในใบประกาศนียบัตรว่า อนุมัติจบ ป.4 ได้เนื่องจากภาวะสงคราม ใบประกาศฯ นี้มีรูปอาปาตอนเป็นเด็กแต่งตัวใส่หมวกสีกากีแบบบุรุษไปรษณีย์น่ารักมาก ) ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามสงบลงแล้ว อาปาได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างร้านค้าในย่านทรงวาด ในขณะเดียวกันก็หาโอกาสเรียนภาษาอังกฤษไปด้วย


ตั้งแต่เด็ก อาปามีลักษณะนิสัยที่ไม่ชอบการพนัน ไม่ชอบมั่วสุมในสิ่งเสพติด ซึ่งมีให้เห็นเป็นอย่างมากสำหรับคนวัยหนุ่มในย่าน ทรงวาด สำเพ็ง และเยาวราช และการได้เห็นความล้มเหลวในชีวิตของคนรอบข้างที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขดังกล่าว จึงเกิดความคิดขึ้นว่าหากยังทำงานอยู่ในย่านนี้ต่อไป ชีวิตคงจะไม่ก้าวหน้าและอาจจะเสียคนได้ จึงได้คิดที่จะหันเหชีวิตไปทำงานด้านการบริการนำเข้าและส่งออก ( Shipping service ) หรือที่ทั่วไปเรียกว่าทำงานชิปปิ้ง ซึ่งในช่วง 50-60 ปีที่แล้วถือว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี เพราะผู้ที่จะทำงานนี้ได้ต้องมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ เข้าใจระเบียบและพิกัดศุลกากรเป็นอย่างดี และต้องสามารถติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ จึงมีคำสบประมาทจากหลายคนว่าเด็กลูกจ้างร้านค้า จบแค่ ป.4 ภาษาอังกฤษก็ไม่เป็น จะไปทำงานชิปปิ้งได้อย่างไร แต่อาปาก็ไม่ได้ท้อถอย ช่วงแรก ๆ จึงไปเป็นผู้ช่วยของพี่ชาย ช่วยงานด้านเอกสาร และติดต่อประสานงานต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจมั่นที่จะเอาดีในเส้นทางอาชีพนี้จึงมุมานะในการเรียนรู้ระบบงานต่าง ๆ ด้วยความอ่อนน้อมต่อข้าราชการ และผู้ใหญ่ในกรมศุลกากร และความมีน้ำใจต่อเพื่อนฝูง จึงทำให้อาปามีความชำนาญการในงานชิปปิ้งอย่างรวดเร็ว และเป็นที่เชื่อถือของลูกค้าและเพื่อนฝูงในวงการเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ฝึกหัดเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจนสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี ต่อมาไม่นานจึงสามารถรับช่วงงานชิปปิ้งต่อจากพี่ชายที่เปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่น


งานชิปปิ้งเป็นงานที่อาปามีความภาคภูมิใจ ประทับใจ และรักมากที่สุด ทุกครั้งที่มีโอกาสได้พูดถึงเหตุการณ์ ต่าง ๆ ในช่วงที่ทำงานชิปปิ้ง อาปาจะเล่าอย่างมีความสุขเสมอ และจดจำได้อย่างแม่นยำเหมือนเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อวานนี้


งานชิปปิ้งในยุคนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อสร้าง หรือขยายโรงงานเพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลเริ่มให้การส่งเสริมอุตสาหกรรม และเป็นการนำเข้าสินค้านานาชนิดเข้ามาจำหน่ายในประเทศ เพราะในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้มากนัก นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดเก็บภาษีการนำเข้าของสินค้าแต่ละอย่างสูงมาก อาชีพชิปปิ้งจึงมีความสำคัญมากเพราะหากชิปปิ้งขาดความชำนาญ สำแดงรายการสินค้าผิดพลาด หรือไม่เข้าใจในรายการสินค้า จะเป็นสาเหตุทำให้เสียภาษีผิดพิกัดได้ ซึ่งจะทำให้ต้องเสียภาษีเป็นเงินจำนวนมาก อาปามีความมุมานะในอาชีพชิปปิ้งมากถึงขนาดศึกษาพิกัดศุลกากรแต่ละหมวดด้วยตนเอง อาปาแทบจะเป็นชิปปิ้งเพียงคนเดียวที่ถือพิกัดศุลกากร และประกาศที่สำคัญของกรมศุลกากรติดตัวเกือบตลอดเวลา


อาปาศึกษาด้วยตัวเองพบว่ามีสินค้าหลายรายการที่นำเข้ากันอยู่ในขณะนั้นสามารถตีความเข้าพิกัดอื่นที่เสียภาษีน้อยกว่าได้ หรือมีการเสียภาษีเกินกว่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่าง เช่น พิกัดภาษีกระดาษลอกลาย ( แม่พิมพ์ ) ซึ่งเดิมเสียภาษีในพิกัดเดียวกับกระดาษปิดผนัง ( Wall paper ) ซึ่งสูงมาก อาปาสามารถชี้แจงให้กรมศุลกากรยอมให้ใช้พิกัดเดียวกับแม่พิมพ์ ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่ามากได้ เป็นต้น กรณีนี้เป็นเหตุให้รองอธิบดีกรมศุลกากรในขณะนั้นต้องขอพบ และชื่นชมในความสามารถ


งานชิปปิ้งทำให้อาปาได้มีประสบการณ์ที่หลากหลายกับอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการทอผ้าของกลุ่มยูเนียน ซึ่งผู้บริหารเป็นชาวจีน ทำให้อาปาสามารถฝึกฝนและเรียนรู้การใช้ภาษาจีนกลางได้เป็นอย่างดี ธุรกิจการค้ายางรถจักรยาน และที่สำคัญที่สุดเมื่อได้มีโอกาสเป็นตัวแทนในการนำเข้าเครื่องจักรให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเซรามิครายใหญ่ที่สุดของประเทศในช่วง 40 ปีก่อน อาปาเป็นชิปปิ้งที่คุณพงศ์เทพ จุลไพบูลย์ เจ้าของกลุ่มเสถียรภาพให้ความไว้วางใจ และปรึกษาหารือการงานด้วยเสมอเสมือนคนในบริษัท ความภาคภูมิใจของอาปาคือการที่คุณพงศ์เทพให้เกียรติอาปาซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงชิปปิ้งธรรมดา ให้เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเกียรติจุดหัวเบิร์นเนอร์ ( Burner ) ของเตาเผาใหม่จาก TAKASAGO และยังได้ร่วมฉลองจานชุดแรกที่เผาจากเตาเผานี้อีกด้วย คุณพงศ์เทพจึงเป็นคนที่อาปามีความผูกพันมาก สิ่งใดที่คุณพงศ์เทพขอร้องให้ช่วยเหลืออาปาจะดำเนินการให้ทันที แม้จะเป็นเรื่องที่ยากมาก เช่น ครั้งหนึ่งรูปลอกจานลายใบไผ่ซึ่งขายดีมากและต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นขาดสต๊อค จึงต้องสั่งของอย่างเร่งด่วนมาทางเครื่องบินซึ่งมาถึงในคืนวันศุกร์ แต่โรงงานต้องการได้ของใช้ในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีอาปาจึงได้ขอความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ให้ผ่อนผันนำรูปลอกบางส่วนออกให้โรงงานใช้ก่อน เพื่อแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วนได้ สร้างความประทับใจให้คุณพงศ์เทพเป็นอย่างมาก ในวันที่อาปาพอจะจัดเวลาว่างได้ ก็จะไปพบคุณพงศ์เทพที่โรงงานเสถียรภาพที่อ้อมน้อยเสมอ อาปาจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ขบวนการผลิตเซรามิค เรียนรู้ เกี่ยวกับวัตถุดิบ และยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่หลายคนจากที่นี่ เช่น คุณประชา ศรีไทย ( ซี -ไทยเซอรา ) คุณสุวิช นภาวรรณ ( อินทราเซรามิค ) เป็นต้น


การที่ได้รู้จักวัตถุดิบประเภทแร่ต่าง ๆ และความสามารถทางด้านชิปปิ้ง ทำให้อาปาหาช่องทางส่งออกวัตถุดิบหลายชนิดไปขายยังโรงงานผลิตดินสำเร็จรูปสำหรับอุตสาหกรรมเซรามิคที่ไต้หวัน แม้ว่าการคมนาคมในยุคนั้นจะยากลำบากก็ตาม อาปาจะเดินทางไปสำรวจยังแหล่งแร่และแหล่งวัตถุดิบต่าง ๆ ในประเทศไทยด้วยตนเองเสมอ เช่นจังหวัดตาก จังหวัดจันทบุรี ซึ่งหลายครั้งคุณอารีย์ บุตรสาวซึ่งยังอยู่ในวัยเด็กก็ได้ร่วมเดินทางไปด้วย การได้เห็นอุตสาหกรรมการผลิตดินสำหรับเซรามิคที่ไต้หวันเป็นการจุดประกายความคิดให้อาปามาเปิดบริษัทผลิตดินสำเร็จรูป ชื่อ คอมพาวด์ เคลย์ ในเวลาต่อมา


งานที่เสถียรภาพนอกจากทำหน้าที่ชิปปิ้งแล้วอาปายังต้องทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับช่างเทคนิคญี่ปุ่น และไต้หวันในบางครั้ง จึงทำให้อาปาได้รู้จักคุ้นเคยกับผู้ขายเครื่องจักรทั้งจากญี่ปุ่น และไต้หวัน เช่น MINO, TAKASAGO, HKK, TALI เป็นอย่างดี



ด้วยความสามารถในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการ ต่อมาคุณพงศ์เทพได้มอบหมายให้อาปาทำหน้าที่ขอการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( BOI ) ด้วย ซึ่งอาปาก็สามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ทำให้อาปามีโอกาสเพิ่มความชำนาญงานอีกด้านหนึ่งเพิ่มเติมจากงานชิปปิ้ง


หลังจากที่คุณพงศ์เทพเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2514 อาปาจึงได้ถอยห่างจากกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพ ด้วยความที่รู้จักคนมาก มีความจริงใจและสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนหลายกลุ่มโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานเซรามิค ในปี พ.ศ. 2517 จึงได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มพ่อค้าในย่านทรงวาด เปิดบริษัท อีสเทิร์น ไชน่าแวร์ จำกัด เพื่อผลิตถ้วย จาน ชามเซรามิคที่ ย่านลาดกระบัง แต่ต่อมาไม่นานอาปาก็ได้ขอถอนตัวจากบริษัท


พ.ศ. 2519 อาปาจึงได้เปิดบริษัท คอมพาวด์ เคลย์ จำกัด โดยมีแนวความคิดมาจากเมื่อครั้งส่งวัตถุดิบไปขายที่ไต้หวัน เพื่อเป็นผู้ผลิตดินสำเร็จรูปสำหรับจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมเซรามิคทุกชนิดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งได้พัฒนาดินสำเร็จรูปสำหรับการผลิตลูกถ้วยไฟฟ้า ผู้ถือหุ้นจึงมีดำริว่าควรจะประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายลูกถ้วยไฟฟ้าด้วย เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยมีโรงงานผลิตลูกถ้วยไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวคือ บริษัท สยามอินซูเลเตอร์ จำกัด ที่ผลิตได้เฉพาะลูกถ้วยไฟฟ้าแบบง่าย ๆ ขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น ทำให้ลูกถ้วยไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ


จึงได้เปิดดำเนินการบริษัท เอเชียน อินซูเลเตอร์ จำกัด ในปี พ.ศ. 2524 ( ขณะนั้นอาปามีอายุ 50 ปีแล้ว ) เพื่อผลิตและจำหน่ายลูกถ้วยไฟฟ้า นอกจากความพร้อมในการผลิตดินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตลูกถ้วยไฟฟ้าแล้ว อาปายังได้พยายามที่จะหาเทคโนโลยีการผลิตลูกถ้วยไฟฟ้าที่ดีจากต่างประเทศ ในที่สุดได้ตกลงว่าจ้างให้ Mr. YAMAGUCHI ผู้เชี่ยวชาญด้านการขึ้นรูปลูกถ้วยไฟฟ้าซึ่งรีไทร์จากบริษัท NGK ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษา โดยการแนะนำของ Mr. WATANABE ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นจากบริษัท TAKASAGO อาปาได้มอบหมายให้คุณอารีย์ และคุณสนั่น ภู่ไพบูลย์ บุตรสาวและบุตรเขย ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคนิค ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญของการบุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตลูกถ้วยไฟฟ้าของประเทศไทย



ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้เปิดบริษัท ไฟน์ อาร์ต เซรามิค จำกัด เพื่อผลิตเซรามิคประเภทของแต่งบ้าน และต่อมาได้เปลี่ยนมาผลิตลูกถ้วยไฟฟ้าคู่ไปกับบริษัท อาเชียน อินซูเลเตอร์ จำกัด ขณะเดียวกันได้เปิดบริษัท เซรามิคส์ อาร์ อัส จำกัด เพื่อเป็นผู้แทนจำหน่าย และนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ สารเคมี วัสดุทนไฟ สำหรับอุตสาหกรรมเซรามิคด้วย


พ.ศ. 2534 เป็นช่วงที่อาปาประสบความสำเร็จกับการผลิตลูกถ้วยไฟฟ้ามากพอสมควรแล้ว นักลงทุนชาวไต้หวันได้ขอให้เข้าร่วมลงทุนเปิดบริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด เพื่อผลิตถ้วยจานชามเซรามิค ในระยะแรกอาปาถือหุ้นเพียงเล็กน้อย ต่อมานักลงทุนไต้หวันไม่ประสบความสำเร็จในการบริหาร ประมาณปี พ.ศ. 2539 จึงได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับอาปา



บริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด เป็นผู้ผลิตและส่งออกถ้วย จาน ชามรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ จึง เป็นความภูมิใจของอาปาไม่น้อยไปกว่างานชิปปิ้ง เนื่องจากถ้วย จาน ชาม เป็นผลิตภัณฑ์เซรามิคชนิดแรกที่อาปาได้มีโอกาสเข้าไปรู้จักเมื่อครั้งร่วมงานกับกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพ และยังได้มีโอกาสร่วมลงทุนช่วงสั้น ๆ กับบริษัท อีสเทิร์น ไชน่าแวร์ จำกัด ซึ่งผลิตถ้วย จาน ชาม เซรามิคเช่นกัน


อาปาในวัย 60 ปี ได้ทุ่มเทเวลา ความรู้ และความสามารถให้กับบริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัดมากที่สุด เนื่องจากเป็นกิจการที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ต้องใช้ทั้งแรงงาน เครื่องจักร และการบริหารงานที่เป็นระบบมาก ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ได้บริหารกิจการมาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ถือได้ว่า บริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด เป็นผู้ผลิตถ้วย จาน ชาม แก้ว เซรามิค คุณภาพสูง 1 ใน 3 ของประเทศไทย และเป็นบริษัทผู้ผลิตเซรามิคอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่ลูกค้าชั้นนำจากต่างประเทศรู้จักให้การยอมรับด้านคุณภาพ


กิจการในเครือของอาปาโดยส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในอุตสาหกรรมเซรามิค โดยครอบคลุมทั้งตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หลายท่านที่สนิทกันจึงตั้งสมญานามให้อาปาเป็น “ผู้มีบารมีแห่งวงการเซรามิคไทย”


นอกจากจะบริหารกิจการของตนเองแล้ว อาปายังได้สละเวลาเพื่อสังคม โดยการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิค สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึง 2 สมัย ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งได้เป็นผู้ที่ผลักดันให้รัฐบาลลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงสำหรับผลิตเซรามิค ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตเซรามิคที่แข่งขันกับต่างประเทศได้ เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมเซรามิคของประเทศไทย ในการประชุม ดูงาน และเจราจาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิคทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในทวีปยุโรป


การที่อาปาได้แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นผู้มีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมเซรามิค ของประเทศไทยจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารทั่วไป ประจำปีการศึกษา 2538 และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 5 ชื่อว่า เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2541 ด้วย







จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่าอาปาเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน รักการทำงาน ทำงานอย่างจริงจัง และมีใจสู้เต็มร้อยตลอดเวลา โดยไม่เอาอายุมาเป็นเหตุข้ออ้าง อาปาเป็นตัวอย่างของมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาแล้วได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์


เป็นลูกชายที่ดี มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ทั้งขณะที่มีชีวิต และแม้จากโลกนี้ไปแล้วก็ยังไปไหว้เช็งเม้งที่สุสานวัดดอนทุกปีไม่เคยขาด

เป็นสามีที่ดี ดูแลรับผิดชอบภรรยาไม่ให้ได้รับความลำบากในการครองเรือน ยกย่องให้เกียรติเสมอ อาปายึดหลักว่าไม่ว่าจะไปไหนก็ตามต้องกลับมานอนที่บ้านทุกวัน

เป็นพ่อที่ดี เลี้ยงดูและให้การศึกษาสูงที่สุดเท่าที่ลูกแต่ละคนจะเรียนได้ โดยเฉพาะลูกสาวที่อาปาสนับสนุนให้ทุกคนได้เรียนสูง ๆ ซึ่งตรงข้ามกับค่านิยมของครอบครัวเชื้อสายจีนในยุคนั้นที่ไม่ส่งเสริมให้ลูกสาวเรียนหนังสือ เพราะอาปาคิดว่าเมื่อลูกสาวแต่งงานออกไปแล้ว หากต้องแต่งงานกับสามีที่ไม่ดีอาจจะลำบากได้ อย่างน้อยที่สุดการได้เรียนหนังสือสูง ๆ จะช่วยให้ลูกสาวประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ เป็นการช่วยเหลือลูกอย่างรอบคอบของอาปาอีกด้านหนึ่ง จึงปรากฏว่าลูกสาวคนโตของอาปา คือคุณศิริรัตน์มีโอกาสสอบชิงทุน กพ. ของรัฐบาล ไปเรียนวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่นได้ และทุกครั้งที่เอ่ยถึงวันที่ไปส่งคุณศิริรัตน์ที่สนามบินดอนเมืองเพื่อไปเรียนต่อนั้น อาปาจะเล่าด้วยความภาคภูมิใจทุกครั้งว่า อาชีพชิปปิ้งก็สามารถส่งลูกสาวไปเรียนต่างประเทศได้ สำหรับลูกชายอาปาก็จะสนับสนุนให้เรียนให้มาก เพราะจะต้องเป็นผู้สืบทอดกิจการของครอบครัวต่อไป อาปาให้ความรักลูกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และจะให้อภัยเมื่อลูกทำสิ่งผิดพลาดเสมอ อาปาเล่าว่าตอนที่ลูกยังเล็กแม้ไม่ค่อยจะมีเวลาให้กับลูกมากนัก แต่เมื่อใดหากมีเวลาว่างก็จะชอบพาลูก ๆ ไปเที่ยวหาดบางแสน ขับรถไปทางถนนสุขุมวิทสายเก่า แวะรับประทานอาหารกลางวันที่สะพานบางปูเสมอ ลูก ๆ จะมีความสุข สนุกกันมาก

เป็นเจ้านายที่ดี อาปาไม่ตำหนิลูกน้องต่อหน้าคนอื่น ไม่พูดให้ใครเจ็บช้ำใจ และไม่ใช้คำพูดหยาบคาย ให้เกียรติและให้โอกาสทุกคนในการทำงานเสมอ ทั้งยังช่วยเหลือเมื่อลูกน้องได้รับความลำบาก จะสอน แนะนำประสบการณ์ของอาปาให้ฟัง เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้งานต่อ แต่ขณะเดียวกันอาปาก็เป็นคนที่รักษากฎกติกาจะไม่ให้อภัยลูกน้องที่เกเรเป็นนักเลง ติดการพนัน และทุจริต

เป็นเพื่อนที่ดี อาปาให้ความจริงใจกับเพื่อนทุกคน ไม่เอาเปรียบเพื่อน ไม่คิดคดทรยศ ให้ความช่วยเหลือยามเดือดร้อน จึงเป็นคนที่มีเพื่อนมาก แม้กระทั่งลูกค้า หรือ supplier ที่ติดต่อกัน ส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน

เป็นพี่น้องที่ดี อาปาดูแลพี่น้องทั้ง 5 คนเมื่อประสบความเดือดร้อนตามสมควรแก่เหตุเป็นอย่างดี อาปาบอกว่าพี่น้องรุ่นอาปา อาปาจะดูแลเอง ส่วนรุ่นของลูกอาปาก็ปลูกฝังให้ลูกดูแลพี่น้องกันต่อไปเป็นรุ่น ๆ

เป็นผู้รู้จักหาความรู้มาใส่ตัว แม้ว่าอาปาจะจบแค่ ป. 4 แต่ก็หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมให้กับตัวเองเสมอ จนกระทั่งสามารถใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนได้ดี มีความรู้ในการอ่านงบการเงิน การทำบัญชี การคิดต้นทุน และวิชาการอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดได้มาจากประสบการณ์ทำงานและการศึกษาด้วยตนเอง

วาระสุดท้ายของชีวิต

ตามที่ได้กล่าวแล้วว่าอาปาเป็นผู้ที่มีความรักในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าในระยะหลังจะได้ถ่ายโอนงานทั้งหมดให้ลูก ๆ ดูแลรับผิดชอบ โดยอาปาเป็นผู้ดูแลนโยบายโดยรวมของบริษัทในกลุ่ม แต่อาปายังคงมาทำงานทุกวันไม่เคยขาด และยังเข้าไปที่โรงงานคราวน์ เซรามิคส์ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี สัปดาห์ละ 3 วัน ( จันทร์ พุธ ศุกร์ ) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาปายังเดินทางไปประเทศจีนกับฝ่ายขายต่างประเทศ เพื่อไปพบกับลูกค้าใหม่รายหนึ่งด้วยตนเอง อาปาเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีคนหนึ่ง แม้ว่าเคยต้องเข้ารับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ เมื่อ 10 ปี ก่อน และมีปัญหาเจ็บขาบ้างในบางครั้งที่ต้องเดินนาน ๆ ซึ่งเป็นปกติของผู้สูงอายุ แต่ไม่เคยมีอาการเหมือนคนสูงอายุคนอื่นที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดเวลา จนกระทั่งพวกเรามีความเชื่อลึก ๆ ในใจว่า อาปาจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวมากคนหนึ่ง


จนกระทั่งวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ในช่วงเช้าอาปายังได้ทำการวางแผนที่จะเดินทางไปดูงานที่ประเทศจีนในเดือนกรกฎาคม และเป็นประธานมอบรางวัลกิจกรรม 5 ส. ที่สำนักงานกรุงเทพในช่วงกลางวัน ซึ่งอาปายังคงร่าเริง และทักทายพนักงานอย่างเป็นกันเอง ต่อมาในช่วงบ่ายถึงได้พบว่าไม่สามารถบังคับมือให้เขียนหนังสือได้ ลูกจึงได้รีบนำส่งโรงพยาบาลรามคำแหงในทันที ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่ามีลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดในสมอง และได้ให้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 4 วัน เมื่ออาการหายเป็นปกติแพทย์จึงได้อนุญาตให้กลับมาพักฟื้นที่บ้านต่อ ท่ามกลางความโล่งใจของครอบครัว และผู้ที่ห่วงใยทุกคน


ขณะพักฟื้นที่บ้านอาปาสามารถเดินเองได้ภายในบ้าน รับประทานอาหารได้เป็นปกติ พูดคุยกับผู้ที่ไปเยี่ยมอย่างสนุกสนาน และอาปายังตั้งใจว่าจะเข้าโรงงานในไม่ช้า จนกระทั่งทุกคนวางใจว่าอาปาน่าจะหายเป็นปกติในเร็ววันนี้ ลูก ๆ ทำการปรับปรุงห้องพักผ่อนของอาปาใหม่ กำลังจะเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ชุดใหม่ที่จะทำให้อาปามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่แล้วในบ่ายของวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ทุกคนก็ต้องตกใจเมื่อทราบว่าอาปามีอาการวูบลงไปขณะที่จะเดินไปเข้าห้องนอนเพื่อพักผ่อนในตอนบ่าย หลังจากนั้นได้มีการนำส่งโรงพยาบาล แต่อาปาก็ได้จากพวกเราทุกคนไปแล้วโดยสงบด้วยอาการหัวใจวาย ด้วยใบหน้าที่มีรอยยิ้ม ในเวลาประมาณ 14.00 น. เป็นการปิดฉากชีวิตของ ดร.มนัส เชิดเกียรติศักดิ์ ชีวิตที่มุ่งมั่นในการทำงานไม่เคยยอมแพ้และท้อถอย ชีวิตที่ดีงาม ชีวิตที่มีคุณค่า และชีวิตที่ควรค่าแก่การระลึกถึงนำมาเป็นแบบอย่างของอนุชนคนรุ่นต่อไป ด้วยวัย 79 ปี